วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ตั้งชื่อเด็ก






ตั้งชื่อเด็ก

ย่างเข้าเดือน ๗ มาจนจะเข้าข้างแรม ฝนประจำฤดูการขาดหายไปร่วมเดือน 
บนท้องฟ้าว่างไม่มีเค้าเมฆเค้าฝนให้เห็น อากาศร้อนอบอ้าวไปทุกหนทุกแห่ง 
ราวกับฤดูร้อนตอนสงกรานต์ไม่ผิด...



ถนนสายเดียวจากตัวเมืองผ่านตลาดและหมู่บ้านออกไปสู่ทุ่งนายาวสุดตา 
ไม่มีรถราหรือผู้คนสัญจรด้วยเป็นเวลาบ่ายแดดจัด ตรงทางแยกจะเข้าสู่วัดเป็น
ละเมาะไม้ร่ม หญิงหนึ่งหน้าตาสวยสะอาดหมดจดอุ้มทารกน้อยแนบอกหลบแดด
แฝงเงาไม้มาตามริมทาง กิริยาดูร้อนรนหวาดหวั่นเหมือนนางเนื้อระแวงภัย พอถึง
ทางแยกก็มุ่งหน้าเข้าสู่วัดแวะถามมาตลอดทางจนถึงกุฏิที่มีต้นมะยมคู่หน้าประตู
เป็นที่สังเกต ก็รีบรุดขึ้นกุฏิโดยไม่ลังเล...

หลวงตาชื้นเอกเขนกประจำที่อยู่หน้าพาไลห้องเช่นทุกวัน เสียงประตูชานกุฏิเปิด 
เหลียวมองเห็นหญิงสาวอุ้มลูกทรุดตัวลงนั่งไหว้แต่ไกลยกมือป้องดูก็จำไม่ได้ว่า
เป็นใคร จึงหันมาทางแขกที่นั่งอยู่ด้วย...



“ครูก้อนตาดีๆ ช่วยดูทีหรือมันลูกใครหลานใครกัน”



ครูก้อนซึ่งมานั่งคอยหมอเถาแต่บ่ายและยังไม่พบกันพลอยป้องมือตามหลวงตาดูมั่ง

“ผู้หญิงครับหลวงตา”

“ทุด…”หลวงตาชื้นทั้งฉิวทั้งขำ “ลูกกะตาฉันก็มี ถึงจะแก่ชรา70 เศษ ก็พอรู้หรอกวะ
ว่าผู้หญิงผู้ชาย ไม่ถามให้มันเสียเวลา อยากรู้ว่ามันใครกัน ครูรู้จักหรือเปล่า”

“คนแปลกหน้าครับหลวงตา ดูจะไม่ใช่คนบ้านเรา” ครูก้อนตอบตายังเพ่งอยู่แล้วกวัก
มือเรียก “เข้ามาซีแม่หนู มีธุระอะไรก็เข้ามาใกล้ๆนี่เถอะ 



หญิงสาววัยยี่สิบเศษลุกเดินผ่านชานกุฏิเข้ามานั่งพับเพียบเรียบร้อย วางลูกที่แนบอกลง


หมอบกราบนอบน้อมใกล้ๆเท้าหลวงตาที่เหยียดอยู่ 
จนหลวงตากระดากต้องหดเท้าหนี

“หนูขอกราบเท้าหลวงตา”

“เออ ไหว้พระแม่คุณจำเริญ ๆ เถอะ” หลวงตายกมือรับไหว้แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่า
ลูกหลานใครที่รู้จักมาก่อนหรือเปล่า ยังไม่ทันได้พูดจาไต่ถาม ก็ได้ยินเสียงเถิดเทิง
กลองยาวแว่วห่างๆ จนกระทั่งใกล้กุฏิและมาหยุดอยู่หน้ากุฏิ เสียงกลองเสียงฉาบดังจน
กระทั่งจะพูดกันไม่ได้ยิน ซ้ำเสียงไชโยโห่ฮิ้วดังลั่นแสบแก้วหู...




หลวงตาชื้นมองหน้าครูก้อนเหมือนจะถามว่ามันอะไรกันจะว่าเป็นขบวนแห่บวชนาคก็ผิดสังเกตที่มาเล่นกันอยู่นอกโบสถ์ จะแห่อื่นใดก็มองไม่เห็น ครูก้อนขยับตัวจะลุกขึ้นเปิดประตูก็พอดี ชายรูปร่างท้วมสูงใหญ่เปิดประตูผลัวะเข้ามา เสื้อผ้าเปียกปอนตลอดตัว หน้าประแป้งลายไป
ทั้งหน้า...



ครูก้อนเพ่งถนัดก็จำได้หัวเราะก๊าก...

“บ๊ะ…บ๊ะ…

หมอเถา วันนี้เกิดร้อนจัดหรือไง ถึงแต่งหน้าแต่งตาพิกล 
ช๊ะๆ ยังมีขบวนแห่มาส่งเสียด้วย”

หมอเถาหัวเราะเอามือลูบหน้าลบรอยประแป้งออกเข้ามากราบหลวงตา...
ซึ่งท่านจ้องมองตะลึงอยู่...

“เขาไปขอฤกษ์แห่นางแมว ฝนฟ้ามันแล้งเหลือเกิน พืชผลในไร่เสียหายหมด 
ก็เลยต้องร่วมขบวนแห่นางแมวมากับเขาด้วย”



“แห่ให้มันเสียเวลา” หลวงตาชื้นว่า “อีกวันสองวันก็จะเข้าเดือน 8 แล้ว พอย่างข้างแรมเข้าพรรษาฝนมันก็ตก”



หมอเถาเหลือบดูหญิงสาวแขกของหลวงตาที่นั่งอยู่ข้างๆ นึกชมในใจตามประสาผู้ชายว่าเธอเป็นคนสวยคนหนึ่ง...



”แม่หนูมาธุระอะไรหรือจ๊ะ”



“หนูจะมารบกวนหลวงตาท่านสักหน่อย” เธอว่า...

“เออ ลืมไป” หลวงตาพยักหน้า “มัวหนวกหูไอ้เสียงเถิดเทิงแห่หมอเถาเลยลืม
ถามว่ามาทำไร มีอะไรว่าไปแม่หนูไม่ต้องเกรงใจ”



“หนูอยากจะมาขอชื่อลูกชายเจ้าค่ะ”

“อ้อได้ซิเป็นไรไป” หลวงตาเอานิ้วจิ้มหน้าผากเด็กสัพยอก“หน้าตามันน่ารักดีเจ้าหนู 
แต่ข้าสงสัยว่านังแม่มันจะมีทุกข์หัวใจมากกว่าเรื่องชื่อลูก”

คำท้ายของหลวงตา ทำให้แม่ลูกอ่อนสะดุ้งหลบตา ทั้งหมอเถาและครูก้อนรู้สึก
สะกิดใจคำหลวงตาชื้นที่มีนัยชวนให้คิด...



“แม่หนูมีทุกข์มีร้อนอะไรก็บอกหลวงตาท่านเถอะ” 



หมอเถาพูดน้ำเสียงปลอบโยนแสดงเมตตา

“อ้ายความทุกข์นะมันท่วมหัวใจหนูทีเดียว” เธอพูดเสียงเครือน้ำตาคลอ...

หลวงตารีบพูดขึ้นก่อน “ดวงยามมันบอกว่า 
เป็นเรื่องผัวเรื่องเมียมันจะเลิกร้างแตกแยกกัน”

เจ้าตัวสะอื้นฮักแล้วปล่อยโฮหมดอาย “ใช่เจ้าค่ะ ผัวเขาจะทิ้งอิฉัน”

ทั้งผมทั้งครูก้อนตกตะลึงอ้าปากค้าง ที่หลวงตาท่านทายเหมือนปาฏิหารย์ ทั้งๆที่
มิได้ผูกดาวแต่สักอย่าง ผมและครูก้อนขณะนี้คิดตรงกันอยู่อย่างหนึ่ง ก็คืออยากรู้
ว่าหลวงตาท่านเอาอะไรทายเช่นนั้น แต่ไม่กล้าถามขึ้นมาขณะนี้เพราะเกรงใจท่าน
อยู่ จึงสบตากันเหมือนถามกันเองอยู่เงียบๆ...



หลวงตาเหมือนจะรู้ใจเราทั้งสองคน ท่านพูดลอยๆเป็นปริศนาบอกใบ้...

“ยามแม่หนูเขามาเป็นยามศุกร์ วันนี้ศุกร์มันเดินเป็นมรณะแก่จันทร์ มันก็เรื่องศุกร์ 
ความรักความใคร่ มรณะมันแตกแยกสูญเสียน่ะซีและวันนี้วันพุธ ศุกร์เป็นมูละ 
ถ้าเป็นนกก็ออกจากรังแล้วไม่กลับคืนเรือนแน่ หมอกะครูทำหน้าตกอกตกใจไปได้”



“ขอรับ เป็นพระเดชพระคุณที่สุด” 
ทั้งผมทั้งครูก้อนพนมมือรับคำ ในใจผมยังคิดไม่แจ่มแจ้ง

หลวงตาจึงพูดต่อไปอีก “ธรรมดาริเป็นหมอดู พอเห็นหน้าเขามันก็ต้องพิจารณา
ยามดวงดาวประจำวัน เพื่อเป็นทางรู้ว่าเขามาเรื่องอะไรร้ายหรือดี มัวแต่นั่งซักนั่ง
ถามเรื่องราวมันก็ไม่ใช่หมอดู เป็นหมอถาม”

“เรื่องตัวยามเข้าดวงดาวหลวงตายังไม่เคยสอนพวกกระผมเลย”ครูก้อนยิ้มประจบ 
แต่คำที่หลวงตาชี้แจงเมื่อกี้ผมพอมองเห็นเค้าบ้างแล้ว "

ผมนึกอิจฉาครูก้อนเสียจริงๆที่หมอมีความคิดปราดเปรื่องว่องไวเข้าใจอะไร
ดูง่ายดายผิดกะผม จะได้อะไรสักทีก็ต้องไปนั่งท่องนอนท่องเป็นวันเป็นคืน 
อ้ายคนเราเรียนกะ ไม่ได้เล่าเรียนมันผิดกันตรงนี้เอง...




“เขาเรียก กาลชะตาทางจันทรคติ เอาไว้วันประหัส เอาดอกไม้ธูปเทียนมาทั้งสองคนฉัน
จะสอนให้” หลวงตาพยักหน้าและให้โอวาท“เป็นหมอดูจะรู้แต่ดาวเดือนอย่างเดียวไม่ได้ 
มันต้องเรียนรู้รอบตัวสารพัดจึงจะเอาตัวรอด” 


หลวงตาท่านหันมาทางหญิงสาวที่กำลังเช็ดน้ำตา...

“แม่หนูเป็นคนที่ไหน ถึงได้หอบลูกฝ่าแดดมาหาอาตมาถึงนี่”

“หนูเป็นคนราชบุรี มาได้สามีอยู่ที่นี่เมื่อปีที่แล้วเจ้าค่ะ”

“เออ มันก็ยังเป็นข้าวใหม่ปลามัน มีลูกมีเต้าด้วยกันมันน่าจะมีความสุขประสาผัวๆ
เมียๆ ทำไมจะมาทิ้งขว้างกันเสียล่ะแม่หนู”

“มันเรื่องเวรเรื่องกรรมเจ้าค่ะ ก็เพราะเรื่องลูกนี่แหละ” น้ำตาที่เหือดแห้งแล้วกลับ
พรูนองแก้มออกมาอีก สาวแม่ลูกอ่อนก็เริ่มเล่าเรื่องแต่ต้น...

“หนูเป็นเด็กราชบุรี กำพร้าพ่อแม่มาแต่เล็กๆ พอจำความได้ก็อาศัยอยู่กับคนอื่น
เรื่อยมา อดบ้างอิ่มบ้างมาตลอด พอตอนอายุ 15-16 ก็ยิ่งลำบากหนักขึ้น พอจะ
ได้ที่อยู่ที่กินมีความสุขก็ต้องเปลี่ยนที่โยกย้ายจนแทบจะจำไม่ได้ว่าเคยอาศัยอยู่
กับใครมาบ้างใครๆเขาว่าเกิดเป็นผู้หญิงขอให้สวยอย่างเดียวชีวิตหาความสุขได้ง่าย
 หนูไม่เชื่อเลยจริงๆเจ้าค่ะเพราะความสวยนี่แหละมันเป็นตัวกรรมให้ลำบากลำบน
ระเหเร่ร่อนพอแตกเนื้อสาวไปอาศัยใครเขาอยู่ มิช้ามินานพอเมียเขาหึงก็ต้องจร
ออกจากบ้านไป พอไปพบที่เมียเขาเป็นคนดีไม่หึง ข้างผัวก็มักทำตาวาวแอบจับมือ
จับแก้ม เหมาะๆบางรายมุดมุ้งปล้ำเอาก็เคยโดนเจ้าค่ะ”



”มาเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้เพื่อนฝูงเขาแนะนำชักจูงไปทำงานเป็นนางเสริฟในบาร์ขายเหล้าขายเบียร์ มีรายได้ดี พอจะมีชีวิตกินอิ่มนอนหลับได้แต่งเนื้อแต่งตัวสวยๆสักหน่อย เสียอย่างเดียวงานชนิดนี้มันเปลืองตัวเปลืองชีวิตอยู่สักหน่อย มันได้อย่างเสียอย่างเจ้าค่ะ”

“เมื่อต้นปีที่แล้ว พี่เขามาเที่ยวบาร์พบกันเข้า เขารักหนูมากชวนไปร่วมชีวิตผัวๆ
เมียๆ หนูก็เต็มใจแม้ว่าพี่เขาจะเป็นคนเชื้อจีนอยากเลิกชีวิตดอกไม้ริมทางเสียที 
จะได้มีชีวิตเป็นครอบครัว แก่ตัวเข้าจะได้ไม่ลำบาก”

เธอหยุดเช็ดน้ำตามองเหม่อเหมือนนึกถึงความรักความหลัง“เมื่อมาอยู่ด้วยกันแรกๆ 
ก็เรียบร้อยดี แต่พอนานนับเดือนเข้าพี่น้องญาติ ๆ ของพี่ซึ่งล้วนแต่เป็นคนจีน ก็ตั้งข้อ
รังเกียจประวัติหนหลังของหนูว่าเป็นคนไม่ดี หนักเข้าก็ยุยงพี่ให้ทิ้ง อ้างว่าเสื่อมเสีย
วงศ์สกุลที่ร่วมแซ่ ”

“พอเริ่มตั้งท้องลูกคนนี้ เราสองคนผัวเมียก็เริ่มระหองระแหงพี่เขาพูดอยู่เสมอว่า
อาจไม่ใช่ลูกเขาก็ได้ หนูสู้อุตส่าห์อดทนมาจนถึง วันคลอด ได้ลูกผู้ชายหน้าตา
ผิวพรรณมาข้างหนูทั้งหมดไม่มีส่วนละม้ายไปทางพ่อเลย เรื่องก็เลยยิ่งซ้ำร้ายหนัก
ขึ้นเราทะเลาะกันแทบไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งญาติพี่น้องเขาก็รุมด่าเช้าด่าเย็นทุกวัน 
จนหนูอดทนไม่ไหวก็ต้องหนีออกจากบ้านมาวันนี้”

ทั้งหลวงตา ผม และครูก้อน นั่งนิ่งฟังใจคอหดหู่ต่อเคราะห์กรรมของเด็กสาวอายุ
ยังเยาว์แต่ความทุกข์ประหนึ่งทะเลหลวงอันกว้างใหญ่ไพศาล เด็กผู้หญิงเล็ก ๆ 
คนนี้จะว่ายข้ามไปพ้นหรือ

“จะให้หลวงตาช่วยอะไรแม่หนูได้บ้างก็บอกเถอะ” หลวงตาเองถึงจะเคยพบเห็น
ความทุกข์ยากของผู้อื่นมามาก ก็ยังไม่วายสลดใจ...

หรือจะให้ไปช่วยพูดกับผัวแม่หนูให้รู้ผิดชอบ ก็เต็มใจจะพูดให้ เอาไม๊ล่ะ”

“ไม่เจ้าค่ะ หลวงตา” เธอรีบปฎิเสธ “หนูคิดไปตายดาบหน้าเสียแล้วที่มาหาหลวงตา
ก็อยากจะให้ตั้งชื่อผูกดวงเป็นสิริมงคลแก่ลูกเพราะหนูคงหมดปัญญาเลี้ยงเขาต่อ
ไปได้ เพราะจะต้องมีชีวิตร่อนแร่พเนจรกินไหนนอนไหนก็ยังไม่รู้แห่ง ตั้งใจจะเอา
ไปยกให้เป็นลูกคนที่เขารักเด็ก วันข้างหน้ามีบุญแม่ลูกคงได้พบกัน”

“แม่หนูจำวันเกิดเวลาเกิดตัวเองได้ไม๊ล่ะ” ผมถามเบาๆ “จะได้ตรวจดวงชะตาดูที
หรือว่ามันจะหมดเคราะห์หรือยัง ด้นดั้นไปครั้งนี้จะดีหรือร้ายอย่างไร”

“หนูจำไม่ได้เลย เพราะแม่ตายเสียแต่ยังจำความไม่ได้ และอาศัยคนอื่นเขาเรื่อย
มาเลยไม่มีโอกาสรู้”

“เจ้าหนูน้อยละมันเกิดวันใดเวลาใดแม่หนูลองบอกซิ” หลวงตาถาม...

“หนูจำไว้แม่นยำเจ้าค่ะ” เธอว่า และก้มลงดูบุตรน้อยที่หลับอยู่คาอก “วันศุกร์
ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2514 ปีนี้เจ้าค่ะ เวลาตกฟากหนู
หกโมงเช้ายี่สิบห้านาที”

“เออจำ ละเอียดแม่นยำ ดี เอา…ลองผูกดวงมันดู ข้างมันจะดีชั่วแค่ไหน” 
หลวงตาคว้ากระดานโหรหยิบปูมมาเปิดดวงดาววางลัคนาขีดเขียนอยู่ครู่เดียว
ก็วางดวงชะตาเสร็จท่านพินิจพิเคราะห์อยู่สักครู่แล้วก็ถอนใจเลื่อนกระดานฯ
มาให้ผมกับครูก้อนดู...









                                                    ๒ เมษายน ๒๕๑๔

                                                    ๗       



                                                 ๖ ฯ ๕ ปีกุน เวลา ๐๖.๒๕ น.


ผมพินิจพิจารณาดวงชะตาอยู่ 2-3 รอบ จับเอาพฤหัสทายก่อนเพราะขืนช้ากลัว
ครูก้อนแกจะคว้าเอาไปกินเสีย...

“ชะตาเด็กคนนี้ ผมว่าคงจะไม่ตกต่ำ พฤหัสเป็นเก้า จะมีความสุขสบาย และพฤหัส
เป็นตนุตกเรือนศรี ไปเบื้องหน้าเห็นทีจะไม่ลำบาก ชีวิตคงจะอุดมด้วยลาภผลสมบูรณ์”

ครูก้อนไม่ยอมน้อยหน้าผม “ลัคนาเขาอยู่ราศีอำพุ จันทร์เป็น 4 ได้องค์เกณฑ์ตาม
ตำราจะเป็นถึงพระยา ชีวิตเด็กคนนี้จะรุ่งเรืองด้วยยศศักดิ์ และอังคารคือศรีอยู่เรือน
กัมมะ ประกอบการงานอย่างใดก็เจริญรุ่งเรืองดี”


หลวงตาชื้นหัวร่อชอบอกชอบใจสองลูกศิษย์พยากรณ์ได้คล่องปากแบบนกขุนทอง...

“ไอ้ที่ทายนี่น่ะมันไม่ผิดหรอก แต่มันยังไม่ถูก ทั้งหมอทั้งครูแหละ เรื่องเดชเรื่องศรี
เรื่องกาลกิณี สอนไม่ใคร่จำกันเลยว่า อย่าเอามาเล่นออกโรงโดดๆไม่ได้ ต้องเอา
ดาวเอาภพเข้าก่อนแล้วถึง เอาเดช ศรีกาลี เข้าประกอบ มันถึงจะแนบเนียน ทีหลัง
ไม่จำให้ได้ มันต้องจับเฆี่ยนกันเสียบ้าง คงจะจำได้ดีขึ้น”

หลวงตาท่านชี้นิ้วบนกระดาน “ขึ้นต้นมันต้องตรวจดวงเสียก่อนว่าวันเวลาเกิดที่เขา
บอกนั้น เมื่อเฉลิมรูปดวงชะตาแล้ว มันพอจะเข้าเค้าเรื่องชีวิตของเขาหรือไม่ เป็น
การสอบเวลาเกิดว่าเขาบอกผิดถูกอย่างไรด้วย”



“อย่างดวงนี้” หลวงตาชี้ที่จันทร์ “จันทร์อยู่เรือนพันธุของลัคนาจันทร์ก็คือแม่เรือนพันธุเผ่าพงษ์ เป็นมรณะกับพฤหัสตนุลัคน์ หมายถึงแม่จากไปเหมือนตายจากกัน และไกลญาติไกลพี่ไกลน้อง พอเชื่อได้ว่าเป็นดวงของเขาจริงๆ”

หลวงตาหยุดตรวจดวงแล้วก็อธิบายต่อ “การจะดูวาสนาหรือชีวิตเขาจะดีจะชั่ว
อย่างไร ไม่ใช่จะคอยจ้องแต่ศรีหรือกาลกิณีอย่างเดียวมันต้องดูตัวเขาคือลัคนาหนึ่ง 
และตนุลัคน์เขาอีกหนึ่ง ดูการงานของเขาอีกหนึ่ง ดูการเงินของเขาอีกหนึ่ง ดูการ
ศึกษาเล่าเรียนอันเป็นความรู้เขาอีกหนึ่ง มันเป็นปัจจัยประกอบกันเป็นความรุ่งเรือง
ไปมิได้ เช่น ความรู้ดีไม่เอาการงานหรือทำการใดไม่ยืดมันก็ไม่เจริญ งานดีความรู้ดี
แต่ตนเองเสเพลประพฤติชั่วก็เอาตัวไม่รอด คนดี งานดี ความรู้ดี แต่การเงินเสียหาย
มันก็ตั้งหลักฐานเป็นปึกแผ่นไม่ได้ เหมือนเก้าอี้ 4 ขาขาดขาใดขาหนึ่งมันก็ตั้งอยู่มิได้”



ทั้งผมและครูก้อนรู้สึกเสียใจตัวเองที่ไม่ควรผลีผลามตะกรุมตะกรามทายโดยไม่
ตรวจตราให้ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน ฟังโอวาทหลวงตาครั้งใดปัญญาแจ่มกระจ่าง
ไปทุกครั้ง...



”ดวงเด็กคนนี้ว่าถึงจะบุกบั่นฟันฝ่าเอาดีเอาเด่นจริงจังด้วยลำแข้งของตนเองยาก” 
หลวงตาชื้นพูดช้าๆไตร่ตรอง นัยน์ตาท่านจับอยู่บนกระดานโหร...

“ตัวตนุตนนั้นน่ะดีอย่างหมอเถาว่า ตนุลัคน์ตกศุภะในเรือนศรีตนจะได้ที่พึ่งอุปถัมภ์
ที่จะพาชีวิตให้รุ่งเรืองในภายหน้า ว่าถึงการงานดูเผินๆก็น่าจะดีเด่น เพราะอังคารศรี
สถิตเรือนกัมมะพฤหัสคู่สมพลทายได้ว่าจะได้หน้าที่ตำ แหน่งการงานที่เป็นเครื่อง
เชิดหน้าชูตาเป็นเกียรติแก่ตน แต่จะดูงานไปในทางลาภผลร่ำรวยไม่ได้ เพราะเรือน
ลาภะราหูเจ้าเรือนวินาสน์เป็นกาลกิณีครองอยู่ เจ้าเรือนลาภะคือเสาร์ไปอยู่กฎุมภะ
เป็นนิจ เท่ากับกาลกิณีเรือนกฎุมภะ การเงินการทองกว่าจะได้ก็ต้องเหนื่อยสายตัว
แทบขาดตามอำนาจเสาร์ เรียกได้ว่าลาภผลการเงินไม่ดี ดูการศึกษาเล่าเรียนก็ดู
อาทิตย์พุธคู่นี้เป็นการศึกษาเล่าเรียนวัยต้นๆมากุมลัคน์อยู่ก็จริง แต่พุธมูละเป็นประ
และอาทิตย์มาจากภพอริ การศึกษาเล่าเรียนขัดข้องไม่ตลอดหรือจะเรียนรู้ให้เป็น
หลักฐานมั่นคงมิได้”

ผมตั้งอกตั้งใจฟังเพื่อจดจำไว้ “เด็กคนนี้ดีเพียงสองสถาน ก็เพียงแต่เอาตัวรอดได้
เท่านั้นนะครับหลวงตา”

“ถูกละ แต่ยังก่อน” หลวงตาพยักหน้ารับแต่ยังชี้นิ้วนับไปตามราศีตรวจดาว” มันจะ
ต้องดูว่าดวงดาวอะไรจะนำพาชีวิตของเขาให้รุ่งเรืองได้บ้างและทางไหน”

“ผมรักดาวพฤหัส” ผมออกความเห็น...

“พฤหัสน่ะถูก..แต่จะดีทางไหน ลองว่ามาซิหมอเถา“ หลวงตาย้อนถามสอบภูมิ”

ผมนิ่งอึ้งคิดอยู่ครู่หนึ่งตอบอ้ออมแอ้มไม่แน่ใจนัก...

“ชีวิตเขาจะมีความสุข”

“บ๊ะ…” หลวงตาเกาหัวแกรกไม่สบอารมณ์คำตอบ “หมอเถามันตอบกำปั้นทุบดิน 
คนดีคนเลว คนจนคนมี มันก็มีทางมีความสุขกันได้ทุกคน ทายอย่างนั้นไม่ได้”

“พฤหัสเป็นเก้าอย่างหมอเถาว่าดีน่ะถูก เขาเรียกธรรมเกณฑ์ไม่สู้จะให้คุณทางโลก 
แต่ให้คุณในทางธรรม เป็นผู้มีคุณธรรม จะได้รับการยกย่องนับถือ ทั้งนี้ลองหวลมา
ดูเรือนปัตนิดูหรือมฤตยูและเกตุเขาครองอยู่ด้วยกัน และพุธเจ้าเรือนก็เป็นประเรื่อง
ลูกเมียดูมันจะดับสูญเป็นเพลิงสิ้นเชื้อเอา และจันทร์องค์เกณฑ์ของลัคนาราศีอำพุ
เป็นคู่ธาตุกับพฤหัสด้วย จะได้เป็นพระยาอย่างครูก้อนว่าแต่เป็นพระยาพระน่ะนา 
ถ้าบวชเรียนตำแหน่งเจ้าคุณเห็นจะอยู่แค่เอื้อมเท่านั้น”





“ผมเห็นจริงอย่างหลวงตาว่าชัดเจนทีเดียว” ผมมองเห็นเป็นฉากๆ ตามคำอธิบาย
และก็อดพูดเล่นตามประสาคนปากอยู่ไม่สุข“เด็กคนนี้เห็นทีจะไม่พ้นทางชีวิต
สมณเพศเสียเป็นแน่ ยกให้เป็นลูกหลวงตาเสียดีกระมัง พอโตสักหน่อยก็บวชเณร
เรื่อยไป เพราะดวงมันต้องพึ่งพระพึ่งสงฆ์ “





หลวงตาอธิบายยืดยาวจนต้องหยุดพักเหนื่อยจิบน้ำชาไปพลางพิศดูหน้าตาเด็ก
และดวงชะตาไปพลาง คิดหาเหตุผลตามประสาพระสงฆ์ผู้เฒ่า...

“จะตั้งชื่อเด็กคนนี้ว่ากระไรดี” ผมเรียนถามแล้วออกความเห็นอีก
“การตั้งชื่อก็ต้องเล่นทางทักษา ผมว่าเอาศรีคืออักษรอังคารจะเหมาะ”

“ผมว่าวรรคเดชคือจันทร์จะเหมาะกว่า” ครูก้อนแย้ง “การตั้งชื่อเด็กชายเขาต้อง
ใช้เดช ส่วนเด็กหญิงเขาใช้ศรี”

”การตั้งชื่อบุคคลจะใช้แต่เดช ศรี ทางทักษาอย่างเดียวมันหยาบไป เรามีดาวก็
ต้องดูดาวประกอบด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าเดชหรือศรีก็ดีจะให้คุณจริงหรือไม่”

“ดูเอาเห็นไม๊ะ” หลวงตาชี้นิ้ว “อังคารตัวศรีก็สัมผัสกับกาลกิณีทางเสาร์คู่ศัตรูที่
ครองเรือนอังคารอยู่ ส่วนเดชคือจันทร์ก็อ่อนไปไม่เหมาะแก่เด็กผู้ชาย”

“ตัวที่เหมาะที่สุดคือพฤหัส ซึ่งทางทักษาเป็นมนตรี และทางดาวก็ตกเรือนศุภะ 
เด็กน้อยผู้นี้จะต้องพรากจากอกแม่ไปอยู่ในความคุ้มครองของคนอื่น ตั้งชื่อมนตรี
และศุภะไว้จะได้มีที่พึ่งที่อุปถัมภ์ชีวิตที่ดีเป็นเหมาะกว่าอื่น”

“จริงครับหลวงตา เหมาะแก่ชีวิตเขาเป็นที่สุดแล้ว”ผมสนับสนุนเพราะเห็นจริง
อย่างหลวงตาพูด ...

“นังหนู แม่ชื่ออะไร พ่อชื่ออะไร จะได้ตั้งชื่อเด็กให้มันคล้องจองพ่อแม่”
 หลวงตาหันมาถามหญิงสาว...

“หนูชื่อบุนนากเจ้าค่ะ แต่ชื่อพ่อเขาไม่ต้องการให้เข้ามาเกี่ยวเจ้าค่ะคนใจร้าย”

“เอาชื่อ บุญเกื้อ ก็แล้วกัน ได้ทั้งเดชทั้งศรี เป็นคู่ธาตุคู่สมพลแล้วยังได้สระคือ
อาทิตย์เป็นคู่มิตรอีกครบองค์ "

“ดีแล้วเจ้าค่ะ หนูชื่อบุนนาก ลูกชื่อบุญเกื้อ คล้องจองกันดีเจ้าค่ะ” เธอค่อยวางลูกลง
ก้มกราบแสดงความขอบพระคุณหลวงตา...

“เอ้าอุ้มเจ้าหนูเข้ามาใกล้ ๆ ผูกข้อมือรับชื่อเป็นสิริมงคลเสีย”หลวงตาจับสายสิญจ์
ทบเป็นเก้าเส้นยาวขนาดพอเหมาะ จับสองปลายเกลือกคลึงข้อมือเด็ก ปากท่าน
ก็พึมพำอาราธนาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณพระสังฆคุณคุ้มครองรักษาแล้วก็เรียก
ชื่อ “เจ้าหนูบุญเกื้อผลบุญจะเกื้อกูลให้เจ้าเป็นสุข”

เธอบรรจงวางลูกกำลังหลับลง “ลูกขอฝากบุญเกื้อไว้สักครู่เจ้าค่ะ จะเข้าไปใน
ตลาดเพราะเพื่อนเขานัดว่าจะใช้เงินยืมให้ จะได้เอาไว้เป็นค่าพาหนะเดินทาง”

“เชิญเถอะแม่หนู” ผมรีบรับอาสาทันควัน “เรื่องเด็กๆ ฉันพอจะดูแลกันได้ รีบไปรีบ
กลับมาอย่างนานนัก ตื่นขึ้นหิวนมจะร้องไห้ปลอบไม่หยุด”

เธอยกมือไว้ผมอ่อนน้อมน่าสงสาร ถอยออกจากประตูกุฏิไปแล้ว ผมก็หันมา
สัพยอกครูก้อน...

“เด็กชื่อบุญเกื้อ ถ้าได้พ่อชื่อบุญก้อนและคล้องกันเปี๊ยบเลย ครูก้อนน่าจะรับเอา
ไว้เป็นลูกบุญธรรมสักคน”

“ของผมน่ะสี่คนเข้าไปแล้วเต็มกลืน” ครูก้อนส่วยหน้าเหลือระอา
“แต่ถ้าแถมแม่ให้ด้วยละก็ขอคิดดูก่อน อาจพอรับไว้ได้”

“ชะช้า ครูก้อน…”ผมชี้หน้าเพื่อน “มีลูกบุญธรรมน่ะมันไม่กระไร แต่จะมีเมีย
บุญธรรมอีกคนละก้อ รนหาที่ตายแน่”

“ตายยังไงหมอเถา” ครูเถียงคอเป็นเอ็น “ผมเป็นหนุ่มแข็งแรงกว่าหมอนะ ไม่ตาย
ง่ายๆหรอก แล้วเมียผมก็ไม่ดุร้ายด้วย”

“ฟ้ามันจะผ่าตาย” ผมหัวเราะ แล้วลำเลิกความหลังของครูก้อนที่รู้ๆกันว่ามีเมียขี้หึง 
สงสัยว่าครูนอกใจทีไรจับสาบานทุกครั้ง “ครูเคยจุดธูปสาบานบ่อยๆให้ฟ้าผ่าตาย 
นี่ก็จะเข้าน่าฝนฟ้ามันคะนองอยู่ ไม่นึกกลัวผิดคำสาบานมั่งรึ”

“หมอเถาปากเสีย” ครูก้อนทั้งอายทั้งขำปนกัน แต่ก็อดหัวเราะไม่ได้ หลวงตาชื้น
เองก็หัวเราะเต็มเสียง ส่วนตัวผมนั้นล่อเสียตัวงอที่เห็นเพื่อนอายกระมิดกระเมี้ยน...

เสียงหัวเราะดังลั่นของเราทั้ง 3 คน ปลุกเด็กน้อยพ่อบุญเกื้อสะดุ้งตกใจตื่นร้องจ้า
 ผมเคยอุ้มเด็กกวาดยาอยู่ทุกวันก็ประคองสองมือช้อนแนบอกโอ๋ปลอบ แต่พ่อหนู
น้อยกำลังตกใจไม่ยอมหยุดกลับร้องจ้าลั่นกุฏิ หลวงตาลูบหัวปลอบก็ไม่ฟัง 
ครูก้อนถึงกับลงทุนแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกทำกริยาแปลกๆ พ่อหนูบุญเกื้อกลับร้อง
ดังกว่าเก่าขึ้นไปอีกตอนนี้ชักอลเวงทั้งกุฏิ หลวงตาไม่คุ้นกับเด็กๆเล็กๆชักไม่สบาย
ใจผมอุ้มใส่บ่าลุกขึ้นเดินนึกหาเพลงฉ่อยเพลงลิเกที่ร้องเล่นเมื่อตอนหนุ่มๆก็นึก
ไม่ออกได้แต่ร้องฮือๆฮาๆ ปลอบไปตามเรื่อง...



“เอ…นี่มันก็นานโขแล้วนะหมอเถา ทำไมแม่เจ้าหนูนี่มันยังไม่ยอมกลับ” 
หลวงตาปรารภด้วยความเป็นห่วง...

ผมเองกับครูก้อนก็คิดอย่างหลวงตาชื้นเช่นกัน แต่ยังไม่ทันจะคิดหรือพูดอะไร
ก็ได้ยินเสียงใครเรียกอยู่หน้าประตูนอก...

”หลวงตาคะร๊าบ…หลวงตาคะร๊าบ”

ผมเดินไปเปิดประตู ก็เห็นเจ้าเด็กรุ่น จำได้ว่าเป็นลูกแม่ค้าที่ท่ารถเมล์ 
“อะไรวะอ้ายหนู”

“มีจดหมายเขาฝากมาให้หลวงตา” เจ้าเด็กท่าทางแคล่วคล่องชูซองจดหมาย
ในมือให้ดู...

“ก็ขึ้นมาซี” ผมกวักมือเรียก เจ้าเด็กนั้นก็แล่นตามมือขึ้นกุฏิตรงไปหาหลวงตา...

หลวงตารับจดหมายฉงนสนเท่ห์ใจ จึงซักเจ้าเด็ก “ใครฝากเอ็งมาวะอ้ายหนู”

“ผู้หญิงสาวๆ สวยด้วยครับ เขาจ้าง 5 บาท ให้เอามาให้หลวงตา”

“แล้วตัวเขาล่ะ ไปไหนเสีย” หลวงตาสังหรณ์ใจ...

“ขึ้นรถเมล์เที่ยวบ่ายเข้ากรุงเทพฯ ไปแล้วครับ”

หลวงตารีบฉีกจดหมายออกอ่านรวดเร็ว ข้อความมีอยู่ไม่เท่าไรแต่หลวงตาอ่าน
ทวนไปทวนมาหลายตลบ นิ่งอั้นนึกไม่ถึง...

“จดหมายแม่บุนนากใช่ไหมครับหลวงตา” ครูก้อนเดาเรื่อง...

หลวงตาพยักหน้าส่งจดหมายให้ครูอ่านเอาเอง ผมก็เร่เข้าไปชะเง้ออ่านอยาก
รู้เรื่อง พออ่านรู้ความในจดหมาย หูผมอื้อไปหมดเจ้าหนูบุญเกื้อร้องจ้าอยู่ข้างหู
ก็ยังไม่ได้ยิน เพราะข้อความในจดหมายมันดังก้องอยู่ในสมองอึงคนึงไปหมด...

กราบเท้าหลวงตาที่เคารพ เจ้าค่ะ

หนูสิ้นคิดสิ้นปัญญาที่จะหอบหิ้วเอาลูกบุญเกื้อไปด้วยจริงๆมิฉะนั้นก็คงจะไปไม่รอด
 หนูจึงขอยกลูกบุญเกื้อให้หลวงตา ถ้าแม้หลวงตาไม่อาจเลี้ยงดูแกได้ 
จะยกให้ใครก็สุดแต่หลวงตาจะเห็นสมควร...

จาก บุนนาก ผู้มีกรรม




...อ้าว...เป็นอย่างงี้ไปได้...

...พบกันใหม่กับบทความ + บทเรียน + นิยายโหราศาสตร์ ในลำดับต่อไปกันนะครับ...




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น