วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การสนทนาในรายการรหัสแห่งสุริยจักรวาล



  โหราศาสตร์เป็นทั้งศาสตร์-ศิลปและสถิติ

...การสนทนาระหว่างนายจรัญ พิกุล กับพ.อ.อ. บุญช่วย ชุ่มเชิงรักษ์ ในรายการรหัสแห่งสุริยจักรวาล- 

บทความจากหนังสือพยากรณสาร...






บุญช่วย...สวัสดีครับ พยากรณสารฉบับใหม่คือ ฉบับเดือนมิถุนายน มีจดหมายจากนักโหราศาสตร์สมัครเล่นคนหนึ่ง ตั้งปัญหาถามไปว่า “โหราศาสตร์เป็นอะไรกันแน่” เพราะศึกษาวิชานี้มานาน จนบัดนี้ก็ยังไม่อาจจะสรุปได้ว่าโหราศาสตร์เป็นศาสตร์หรือศิลปะ? เป็นวิชาสถิติหรืออะไรกันแน่ ในจดหมายถึงบรรณาธิการมีว่าดังนี้ครับ... และในตอนท้าย บ.ก. ก็ขอให้นักโหราศาสตร์ช่วยกันตอบ จะได้ทราบกันหลายๆ ทัศนะ และความสงสัยในทำนองนี้เป็นเรื่องที่ยังมีอีกมาก วันนี้ผมคิดว่าเป็นโอกาสเหมาะที่น่าจะพูดกันถึงเรื่องนี้อีกสักที ความจริงที่แล้วๆ มาเราก็เคยพูดไว้บ้างแล้วว่า วิชาโหราศาสตร์คืออะไร ….


จรัญ...เป็นความจริงครับที่ว่า ยิ่งเรียนก็ยิ่งมีความสงสัยมากขึ้นว่า วิชาโหราศาสตร์เป็นวิชาอะไรกันแน่ ส่วนมาเมื่อเรียนกันใหม่ๆ ก็มีศรัทธาอยู่แล้วว่า โชคชะตาของคนเราขึ้นอยู่กับดวง คือถ้าดวงบอกว่าอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น และความคิดที่ว่าขึ้นกับดวงชะตานี้ก็เลยหมายไปถึง “พรหมลิขิต” ด้วย คือทำให้เข้าใจว่าความเป็นไปของคนเรา คงจะดำเนินไปตามรอยลิขิตอะไรสักอย่างเป็นแน่… จดหมายจากนักโหราศาสตร์สมัครเล่นคนนี้เมื่อสรุปแล้ว ก็จะมีปัญหาดังนี้ คือ...








...๑.โหราศาสตร์เป็นวิชาอะไร เป็นศาสตร์หรือศิลปะ หรือสถิติ เป็นพรหมลิขิตหรืออย่างไร?

...๒.เหตุใดโหรโบราณจึงทำนายแม่น เขามีเคล็ดลับอะไรหรือ ทำไมดวงชะตาอย่างที่ใช้กันทั่วๆ ไป(ดวงอีแปะ) ...จะมีอะไรบกพร่องหรือ?

...๓.สงสัยว่าทำไมดวงชะตาคนฝาแฝดหรือคนที่เกิดใกล้ๆ ไล่เลี่ยกันจึงมีวิถีชีวิตไม่เหมือนกัน ทั้งๆที่ก็มีดวงชะตาเมื่อผูกแล้วก็เป็นดวงอย่างเดียวกัน จะแตกต่างก็เพียงเล็กๆ น้อยๆ...


บุญช่วย - นั่นซิครับ…ผมคิดว่าเรามาตอบเป็นข้อๆไปจะดีกว่า ข้อแรก คือโหราศาสตร์เป็นอะไรกันแน่ คุณจรัญมีความคิดเห็นอย่างไรครับ ในฐานะที่คุณจรัญได้ศึกษาและจับงานด้านนี้มาตลอด ผมเชื่อว่าปัญหาทำนองนี้ก็คงจะเคยสงสัยมาแล้วใช่ไหมครับ?


จรัญ ครับ…ผมเคยสงสัยมาแล้ว ปัญหานี้ก่อนอื่นผมขอชี้แจงว่า เป็นทัศนะของผมนะครับ คือหลังจากที่ได้ศึกษาค้นคว้าในศาสตร์นี้มาหลายปีทั้งดวงชะตาแบบไทย สากล และอื่นๆ ตอนแรกผมก็เข้าใจไปว่าโหราศาสตร์คือวิชาที่ว่าด้วยพรหมลิขิต คือหมายความว่า ถ้าเราเรียนรู้เรื่องดวงชะตาทางโหราศาสตร์ เราก็จะรู้พรหมลิขิตของเราเอง ว่าชีวิตเมื่อถึงเวลานั้นจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พูดง่ายๆ ก็คือต้องเป็นไปตาม”บทบอก” ของดวง จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ อันนี้มานมาค้านกบหลักความจริงอย่างหนึ่งครับ คือทุกวันนี้เรามีคำสอนที่ให้คนทำดี หลีกความชั่ว พูดง่ายๆก็คือ ถ้าคนเราต้องมีอันเป็นไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ทำไมเราจึงต้องมาเรียนรู้เรื่องความดีความชั่วอะไรกัน ซึ่งเมื่อศึกษาค้นคว้าในวิชาโหราศาสตร์ไปนานๆ ก็ได้ความว่า ดวงชะตาซึ่งผูกขึ้นตามวันเวลาเกิดและมีดาวต่างๆนี้ หาใช่พรหมลิขิตร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ ดวงดาวเป็นเพียงเครื่องชี้ทาง ชี้บอกว่าชีวิตของเราน่าจะไปอย่างไร น่าจะเป็นอย่างไรมากกว่าครับ ในตำราของโหราศาสตร์สากลส่วนมากเขาจะย้ำเรื่องนี้ไว้เสมอ คือเขาจะบอกไว้เป็นทำนองว่า”ดวงดาวเป็นเครื่องชี้บอกมากกว่าที่จะเป็นเครื่องบังคับ” หมายความว่าคนเรามีได้ขึ้นอยู่ที่ดวงชะตาแต่อย่างเดียว แต่ดวงชะตาซึ่งหมายถึงดวงดาวในวันเกิด เป็นเครื่องมือที่พิสดารอย่างหนึ่งในการอ่านวิถีชีวิตของคนเรา ซึ่งการอ่านนั้นจะอ่านผิดหรือถูกก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของคนอ่าน บางคนอาจจะผูกดวงชะตาเขาผิด แต่บางทีก็ทายได้แม่นยำ บางทีดวงง่ายๆ เช่นที่เรียกว่าดวงอีแปะ มาทำนายก็ทายถูกได้แม่นยำ อย่างที่คนโบราณเคยมีเรื่องเล่ามาแล้ว...


บุญช่วย- เอ…ผูกดวงผิดแล้วทายถูก นี่มันเป็นไปได้อย่างไรครับ คือทำให้เห็นว่าวิชาการทำนายนี้คงมีความลี้ลับอะไรสักอย่าง ซึ่งบางทีไม่เกี่ยวกับดวงก็ได้ อาจจะเป็นญาณดลใจหรือมีญาณหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นในตัวผู้ทำนายเอง คุณจรัญมีความเห็นอย่างไรครับ...


จรัญ - ครับ เป็นของแน่ทีเดียว…เพราะผมได้ประสพมากับตัวเองแล้ว เมื่อตอนเรียนวิชาพยากรณ์ใหม่ๆ ตอนนั้นก็ยังผูกดวงแบบง่ายๆ ไม่เป็นอะไรนัก อาศัยหลักทำนายเพียงแค่วิชาทักษาพยากรณ์ ผมเคยทายแม่นยิ่งกว่าตาเห็น แต่ก็มีความแม่นยำเป็นพักๆเป็นคราวๆครับ ซึ่งมาในตอนหลังนี้เรายิ่งเรียนรู้หลักวิชาอะไรต่างๆ มากขึ้น บางครั้งก็ทำนายสู้มีหลักวิชาอย่างง่ายๆ ไม่ได้ เรื่องนี้ผมว่าไม่เกี่ยวแก่หลักวิชา แต่มันเกี่ยวด้วยความเร้นลับอะไรสักอย่าง อยากจะขอเรียกว่า”ญาณดลใจ-หรือญาณหยั่งรู้” คือมันมักเกิดขึ้นแก่นักพยากรณ์ได้เป็นบางครั้งบางคราว ไม่ว่านักพยากรณ์จะเรียนทางดวงดาว ลายมือ นั่งทางใน มีตาทิพย์อะไร ก็ต้องอาศัยตัว “ญาณดลใจหรือณาณหยั่งรู้” ด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ อย่างที่คุณนักโหราศาสตร์สมัครเล่นคนหนึ่งเขียนเล่าไปว่าในพงษาวดารเคยเล่าถึงความแม่นยำ ของโหรโบราณมาแล้วที่ทายได้ว่า สัตว์ที่ครอบไว้เป็นสัตว์สี่เท้าและบอกจำนวนไว้เสร็จ การทายได้แม่นยำถึงเพียงนี้ ผมว่าบางครั้งก็ไม่ได้เกี่ยวกับเคล็ดลับหรือมีหลักวิชาพิสดารอะไรครับ ความจริงน่าจะเป็น”ญาณหยั่งรู้” อะไรสักอย่างมากกว่า เพราะถ้าเป็นเคล็ดลับหรือหลักวิชาที่แม่นยำอะไรแล้วก็ควรจะเรียนรู้กันได้หมดและใช้กันได้เสมอ หมายความว่า ดูดวงทีไรก็ต้องแม่นทุกที แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ผมจึงอยากจะกล่าวว่าโหราศาสตร์เป็นศิลปที่ตรงนี้ คือเป็นศิลปะก็ตรงที่สอนกันไม่ได้ เรื่อง”ญาณหยั่งรู้หรือญาณดลใจ” มันเป็นเรื่องเกิดขึ้นเองเฉพาะตัวและบางเวลา นักพยากรณ์ทุกแขนงไม่ว่าทางดวงดาว ลายมือ ก็ต้องเรียนหลักเกณฑ์ไปตามหลักวิชา แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือเรื่อง “สิ่งดลใจอะไรที่ผมว่ามานี้” เพราะเจ้าตัวนี้มันจะช่วยให้เกิดความแม่นยำอย่างประหลาดมหัศจรรย์ และสอนกันยาก สำหรับนักโหราศาสตร์มักจะเกิดได้ง่าย ตอนที่เรียนวิชานี้ใหม่ๆ เพราะกำลังมีศรัทธาแรงกล้าจึงทำให้เกิด “ญาณแวบขึ้นมาได้” บางทีเอาดวงผิดๆ หรือผูกดวงอย่างง่ายๆ ก็ทายถูก ผมจึงอยากจะพูดว่าโหราศาสตร์เป็นศิลปด้วย คือศิลปะในการทำนายชี้ขาด เลือกทำนายได้ถูกเรื่อง หลักเกณฑ์ต่างๆ เป็นเครื่องนำทางคล้ายกับเป็นเครื่องตะล่อมให้เกิดญาณ…โหรอินเดียบางแห่งเขาจึงสอนวิชาโหราศาสตร์ควบคู่กับโยคีคือฝึกสมาธิ ฝึกจิตไปในตัวด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดปัญญา เกิดญาณดลใจ ดังนั้นถ้าเรียนโหราศาสตร์อย่างวิทยาศาสตร์ คือแบบสองบวกสองแล้วต้องเป็น แบบนี้ไม่ได้ผลครับ สำหรับการทำนายโหราศาสตร์ จึงมีส่วนเป็นศิลปะมากครับคือมีศิลปะในการอ่านดวง ในการตีความหมายการพูด และเป็นศิลปะที่จะก่อให้เกิดญาณดลใจ บางคนต้องเรียนรู้หลักเกณฑ์อะไรมากๆ จึงจะเกิดญาณที่ทำนายได้แม่น บางคนก็เรียนรู้อะไรเพียงง่ายๆก็ทายได้แม่น แต่ก็เอาแน่ยาก มักจะใช้ได้เป็นครั้งคราว...


บุญช่วย - อ้อ … พอจะเข้าใจแล้วครับ หลักวิชาของโหราศาสตร์ไม่ว่าจะละเอียดพิสดาร มีหลักเกณฑ์ต่างๆ มากน้อยเพียงไร ก็ยังไม่สำคัญเท่าเกิด”ญาณ” ถ้ามี “ญาณดลใจ” เข้าช่วยด้วยจะทำให้ทำนายอย่างแม่นยำ หลักเกณฑ์หรือมีหลักวิชาเคล็ดลับ จะดีเด่นเพียงไรก็หาได้ใช้ได้เสมอไปไม่ บางคนเราเอาหลักเกณฑ์ เอาวิธีทายใช้ได้ถูก แต่บางคนก็ไม่เกิดผล มันคงจะมีความลี้ลับอะไรอีก ตรงนี้เราต้องอาศัย”ญาณ” ซึ่งคุณจรัญเรียกว่าเป็นศิลปลึกลับอะไรอย่างหนึ่งใช่ไหมครับ…







จรัญ - ครับ โหราศาสตร์เป็นศิลปะที่ตรงนี้ คือตรงที่จะทำนายให้แม่นยำได้มากที่สุด และได้ผลนานที่สุดคือทายให้แม่นยำมากกว่าทายผิดๆ แต่โหราศาสตร์ก็ไม่ได้เป็นศิลปทั้งหมดนะครับ เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นทั้งวิชาสถิติอยู่ด้วยครับ สรุปง่ายๆ ก็คือ โหราศาสตร์เป็นทั้งศาสตร์ ศิลปะ และสถิติคือรวมกันหมดเลยครับ แยกให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้แน่...


บุญช่วย - เอ… ตอนนี้ชักงงๆ แล้วครับ ก็ไหนว่าเป็นศิลปะแล้ว จะเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไรกันครับ ขออธิบายขยายความหน่อยครับคือ เป็นวิทยาศาสตร์ที่ตรงไหน เป็นศิลปะที่ตรงไหน…


จรัญ คืออย่างนี้ครับ ก่อนที่เราจะผูกดวงชะตา เราต้องอาศัยปูมปฏิทินโหร ปูมปฏิทินโหรก็เป็นเรื่องของดวงดาว ดวงดาวต่างๆ ที่เคลื่อนไหวโคจรอยู่ในท้องฟ้าเวลานี้ก็เป็นวิทยาศาสตร์ไปแล้ว เราเรียกว่าวิชาดาราศาสตร์ วิชานี้สามารถบอกตำแหน่งของดวงดาวในท้องฟ้าได้อย่างใกล้เคียงที่สุด และจะคำนวณหาตำแหน่งดาวเมื่อไหร่ก็ได้ เขามีหลักเกณฑ์คำนวณได้แม่นยำ ไม่ต้องอาศัยญาณดลใจอะไร ดาวทุกดวงที่ใช้ในดวงชะตามีกฏเกณฑ์แน่นอนว่าจะต้องเดินไปอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อจะเดินช้าเดินเร็ว เดินหน้าถอยหลัง เดินใกล้-ไกลโลก มีตัวเลขที่จะคำนวณได้หมด วิชาโหราศาสตร์จึงเป็น”วิทยาศาสตร์” ก็ตรงที่การผูกดวงครับ เราจึงต้องมีการผูกดวงอย่างละเอียดให้รู้ถึงองศา-ลิปดา 
ให้รู้ถึงนวางศ์-ตรียางศ์ ให้รู้ถึงมุมสัมพันธ์ รู้อะไรต่างๆที่เป็นตัวเลขที่เราสามารถจะคำนวณได้อย่างละเอียด ดังนั้นถ้าเราผูกดวงยิ่งละเอียดเท่าใด ก็เป็นทางช่วยให้การอ่านดวงได้ดีมากขึ้น ตอนผูกเป็นดวงนี้เป็นเรื่องของศาสตร์ละครับ คือไม่ต้องมีศิลปะอะไรทั้งสิ้น ใครรู้เรื่องคำนวณก็เรียนได้ เป็นของตายตัวดิ้นไม่ได้ สองบวกสองก็ต้องเป็นสี่ เมื่อคำนวณได้ว่าดาวนั้นอยู่ตรงนั้นก็ต้องอยู่ตรงนั้น จะไปอยู่ที่อื่นไม่ได้ นอกจากเราคำนวณผิดเท่านั้น โหราศาสตร์จึงเป็นวิทยาศาสตร์ที่ตรงนี้ คือตรงการคำนวณ...


บุญช่วย- อ้อ… พอเข้าใจแล้วครับ ก่อนที่จะทำนายใครก็ต้องมีดวง ดวงก็ผูกจากปูม ปูมโหรก็ดี การคำนวณก็ดี เป็นเรื่องของตัวเลข เป็นเรื่องของการคำนวณซึ่งเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นการทำนายเป็นศิลปะ คือไม่แน่ ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรที่จะจับมันให้อยู่ตัวได้เหมือนกับการคำนวณ เพราะความเป็นไปของชีวิตเป็นเรื่องสลับซับซ้อน ทางพระท่านก็ว่า ชีวิตเป็นเรื่องของกรรม กรรมเก่าจากอดีตชาติ กรรมปัจจุบัน และอนาคต การอ่านกรรมจะดูจากดวงชะตาเกิดอย่างเดียวก็ไม่พอ อันนี้พอเข้าใจละครับ แต่ที่ว่าเป็นวิชาสถิติด้วยนี่ ยังไงกันครับ...




                                                                        อ.จรัญ พิกุล


จรัญ - ที่ว่าเป็นวิชาสถิติด้วย ก็หมายถึงการตีความหมายของดวงหรือการอ่านดวงชะตาเพื่อให้มีทางให้ง่ายขึ้นก็ต้องอาศัยสิ่งที่แล้วๆ มาเป็นเกณฑ์ก็ต้องอาศัยสถิติที่ผ่านมา เช่นเมื่อดาวนั้นถึงดาวนี้เคยมีอะไรก็จำไว้ เมื่อเป็นบ่อยๆ เข้าก็เป็นตำราที่จะยึดถือเป็นหลักพิจารณา สำหรับการทำนายครั้งต่อไป แต่การอ่านดวงก็ใช่ว่าจะดูแต่ดาวตัวเดียวหาได้ไม่ ต้องดูกันไปพร้อมๆ กับดาวดวงอื่นด้วย ตอนนี้ก็ยิ่งอาศัยสถิติมากขึ้น คือต้องมีสถิติของดาวต่างๆ เมื่อมาเป็นรูปนั้นรูปนี้เคยมีอะไร เมื่อดาวเข้าเกณฑ์นั้นเกณฑ์นี้เป็นอย่างไร กับดวงโน้นเคยเป็นอย่างนั้น แต่มากกับดวงนี้จะเป็นอย่างไร เพราะพื้นชะตากำเนิดไม่เหมือนกัน ก็มีข้อแตกต่างออกไปได้อีก ตอนนี้ต้องอาศัยสถิติมากทีเดียวครับ การเห็นดวงมาก การจดบันทึกค้นคว้าจะช่วยได้มากครับเรื่องสถิตินี้ ความจริงการทำสถิติอย่างนี้ก็จัดเป็นวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกัน ปัจจุบันนี้จึงมีวิชาสถิติพยากรณ์เกิดขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องประมาณการคือเอาแน่ยังไม่ได้เสมอไป วิชาโหรจึงต้องอาศัยศิลปะเข้าช่วยด้วย คือต้องอาศัยศิลปะในการตีความหมาย การอ่านดวง การทำให้เกิดญาณดลใจแล้วชี้ทายออกไป การทำนายจึงเป็นเรื่องของศิลปะ ไม่มีเกณฑ์อะไรตายตัวที่จะชี้บอกบ่งได้อย่างการคำนวณ สองบวกสองอาจจะเป็นสี่ เป็นห้าก็ได้ในการทำนาย สรุปแล้วจึงเป็นทั้งศาสตร์ ศิลปะ และสถิติครับ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การทำนายเป็นเรื่องของศิลปะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอาศัยตัวเลขทางกฏเกณฑ์มาก่อน ดังนั้นการที่เราจะได้วิธีคำนวณดวงอย่างพิสดาร มีเคล็ดลับอะไรในทางพยากรณ์ ก็มิได้หมายความว่า จะเป็นจริงตามนั้นเสมอไป มันขึ้นอยู่กับศิลปมาก เพราะสาเหตุหรือเหตุผลที่จะทำให้คนเราเป็นอะไรไปต่างๆนานานั้น มีเหตุมาจากหลายประการ ซึ่งเหตุผลของชีวิตบางอย่างก็ไม่เกี่ยวกับความเป็นไปในปัจจุบัน มันอาจจะเนื่องมาจากเหตุของอดีตชาติก็ได้อย่างที่พุทธศาสนาค้นพบไว้แล้ว...


...จบการสนทนาระหว่าง อ.จรัญ พิกุล กับ พ.อ.อ. บุญช่วย ชุ่มเชิงรักษ์ ...








... การสนทนาของท่าน อ.ทั้ง ๒ นี้มีประโยชน์ สำหรับพวกเรานักศึกษาโหราศาสตร์เป็น

อย่างยิ่งครับ ...

... สวัสดี ...

... อ.ธนเทพ ปฏิพิมพาคม ...